ศ.น.สพ.ดร.จักร พิชัยรณรงค์สงคราม เกิดเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2453 ถือกำเนิดมาในเวลาไล่เลี่ยกับการริเริ่มการสัตวแพทย์แผนปัจจุบันทางทหาร คุณพ่อชื่อ พันตรีพระยาพิชัยรณรงค์สงคราม
(นายทองดี จารุทัต) และนางพิศ จารุทัต ซึ่งได้ให้บุตรชาย จักรใช้สกุล พิชัยรณรงค์สงคราม แทน จารุทัต ตั้งแต่ 16 ตุลาคม 2485 ทั้งสองท่านได้เน้นการอบรมบุตรหญิง ชายทั้ง 9 คนให้เป็นคนมีระเบียบวินัยอดทน รู้จักปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง ศาสตราจารย์จักร พิชัยรณรงค์สงคราม มีความผูกพันกับมารดามาก เพราะมารดาท่านจะให้ความรัก ความอบอุ่น และเป็นกำลังใจเสมอมา
ศ.น.สพ.ดร.จักร พิชัยรณรงค์สงคราม จบการศึกษาระดับมัธยมปีที่ 6 ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียลใน พ.ศ. 2472 หลังจากนั้น บิดาก็ส่งไปศึกษาต่อที่ประเทศฟิลิปปินส์ ในวิชาสัตวแพทย์ ซึ่งประเทศไทยยังขาดแคลนอยู่มาก เมื่อมารดาถึงแก่กรรมในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2474 ท่านเสียใจมาก แต่ก็มาเรียนต่อด้วยการทำงานหาเงินเรียนเองตลอดระยะเวลา 6 ปี ของการเรียนสัตวแพทย์ ที่น่าสนใจคือ ท่านรับจ้างเล่นฟุตบอลในฟิลิปปินส์ ในตำแหน่งกองหลัง ทั้งยังเป็นนักกีฬาทุกประเภท ศาสตราจารย์จักร พิชัยรณรงค์สงคราม จึงเป็นนักศึกษาที่อดทน พากเพียร เอาชนะอุปสรรคนานาประการในต่างแดน จนสำเร็จได้รับปริญญา D.V.M. (Doctor of Veterinary Medicine) ใน พ.ศ. 2480 นอกจากนี้ ชีวิตในฟิลิปปินส์ก็ยังสอนให้ศาสตราจารย์จักร พิชัยรณรงค์สงคราม มีทักษะในงานฝีมือหลายด้าน เช่น ลายมืองดงาม การก่อสร้าง การปั้น การชำแหละเนื้อเยื่อ และงานศัลยกรรม ทั้งยังมีคุณสมบัติประกอบคือ ความใจเย็น มีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ มีการตัดสินใจเด็ดเดี่ยว มีสายตาอันเฉียบแหลม ทั้งหมดนี้ ท่านได้พยายามถ่ายทอดแก่บรรดาศิษย์ทุกรุ่น คือ Veterinarians must have eagle’s eyes, lion’s heart and woman’s hand.
ศ.น.สพ.ดร.จักร พิชัยรณรงค์สงคราม เข้ารับราชการในประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2480 ในตำแหน่งนายสัตวแพทย์ผู้ช่วย สังกัดกองสัตวรักษ์ กรมเกษตรและการประมง กระทรวงเกษตราธิการ แล้วได้ปรับเลื่อนขั้นตามลำดับ เป็นอธิบดีกรมปศุสัตว์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2505 จนเกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2514
เมื่อ สิ้นปีการศึกษา 2511 – 2512 ศาสตราจารย์จักร พิชัยรณรงค์สงคราม ได้รับพระราชทานสัตวแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในพ.ศ. 2513 ได้รับพระราชทานสัตวแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกียรติสูงส่งของท่านในปีต่อมาก็คือ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นศาสตราจารย์ นับว่า ศาสตราจารย์จักร พิชัยรณรงค์สงคราม ได้ทุ่มเทชีวิตให้แก่การศึกษาสาขาสัตวแพทย์ และก่อตั้งรื้อฟื้นกิจการของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตลอดระยะเวลา 8 ปี ที่ดำรงตำแหน่งคณบดี จนสิ้นสุดวาระในวันที่ 30 กันยายน 2519 ขณะเดียวกัน ในช่วง พ.ศ. 2506-2514 ท่านยังคงดำรงตำแหน่งเป็นนายกสัตวแพทยสมาคมฯ นานถึง 9 ปีเช่นกัน ผลงานของท่านในการริเริ่มและพัฒนาสัตวแพทยศาสตร์ในประเทศไทย ทำให้ท่านได้รับการยกย่องนับถือในต่างประเทศด้วย ท่านได้รับเชิญให้ไปประชุมกับองค์การต่างประเทศหลายครั้ง อาทิ ประชุมใหญ่องค์การโรคระบาดระหว่างประเทศ ที่กรุงปารีส (พ.ศ. 2498 – 2500) ประชุมองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติที่กรุงโรม (พ.ศ. 2504)ประชุมสมัชชาองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (พ.ศ. 2506) ความประทับใจที่ผู้คุ้นเคยมีต่อศาสตราจารย์จักร พิชัยรณรงค์สงคราม คือ ท่านเป็นตัวอย่างของอาจารย์ที่ดี สอนลูกศิษย์ด้วยความตั้งใจ และประดิษฐ์อุปกรณ์การสอนด้วยความประณีต และมีศิลปะ เช่น ทำโครงกระดูกสัตว์ต่างๆ เขียนภาพขนาดใหญ่ของอวัยวะสัตว์ ซึ่งทำให้การเรียนวิชากายวิภาคศาสตร์ง่ายขึ้น เป็นที่ประจักษ์ที่ท่านสามารถสร้างภาควิชากายวิภาคสัตว์ในคณะสัตวแพทยศาสตร์ ทั้งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ นอกจากนี้ เมื่อมีโรคทริคิโนซีสระบาดในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ในช่วง พ.ศ. 2505-2507 และทำให้ชาวบ้านที่บริโภคเนื้อสุกรนั้น ป่วย 394 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 48 ราย ศาสตราจารย์จักร พิชัยรณรงค์สงคราม จึงเป็นผู้นำในการริเริ่มโครงการควบคุม และป้องกันโรคทริคิโนซีส โครงการนี้สามารถควบคุมป้องกันโรคทริคิโนซีสได้เป็นผลสำเร็จ เป็นผลงานส่วนหนึ่งในจำนวนมากของท่านที่สร้างไว้ในวงการสัตวแพทย์
ลูกศิษย์ 4 คน ที่เป็นศิษย์รุ่นแรก คือ ดร. สุรพล แก้วมงคล ดร. สมพงษ์ วัฒกนารา ดร. สัญชัย ลักษณโกเศศ และ รศ. วีระพล จันทร์สวรรค์ กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ เพราะอาจารย์เป็นคนซื่อตรง มือสะอาด กล้าหาญที่จะตัดสินใจ ไม่เลี่ยงหนีปัญหา รักความยุติธรรม อุตสาหะในการเตรียมวิชาสอนนิสิต ยิ่งกว่านั้น อาจารย์เป็นผู้มีจิตวิทยา และเมตตาสูง ใครทำผิดพลาดไป อาจารย์ก็พร้อมที่จะช่วยขจัดปัญหาให้หมดสิ้น ทำให้นิสิตภูมิใจที่จะยกย่องอาจารย์ให้เป็น คุณพ่อ ของพวกเรา ในคำขวัญของท่านขณะดำรงตำแหน่งคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ ในโอกาสจัดงานรับน้องใหม่ประจำปี 2518-2519 นั้น ท่านได้สรุปความสำคัญที่เป็นหลักธรรมของท่านเสมอมา คือ …ต้องมีขันติ อดทน ทำใจให้หนักแน่น มีจิตใจเที่ยงธรรม เผื่อแผ่ โอบอ้อมอารี รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมทางจิตใจ อย่านึกอย่าหลงว่าตัวเรานี้วิเศษกว่าคนอื่น เห็นอกเห็นใจ ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน กินแรงเพื่อน เราจะไปอยู่ที่ไหนก็หวังให้ความร่มเย็น ไม่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม จะอยู่แห่งใดก็ไม่มีภัย เพราะความดีจะเป็นเครื่องคุ้มครองตัว…
ชีวิตครอบครัวของอาจารย์ก็อบอุ่นมาก อาจารย์แต่งงานกับคุณชะม้อย ปาลกะวงษ์ ณ อยุธยา มีบุตร 2 คน คือ นายคมจักร และ นางสาวนาตยา พิชัยรณรงค์สงคราม อาจารย์ได้ชื่อว่ารักงาน และครอบครัวมากที่สุด ทุ่มเทการดูแลเลี้ยงลูกเป็นอย่างดี ชีวิตครอบครัวจึงมีแต่ความสงบสุข แต่เมื่อย่างเข้าวัย 40 ปีเศษ ท่านเป็นโรคเบาหวาน และต้องผ่าตัดต้อกระจกที่ตาข้างหนึ่ง แต่ท่านก็มีกำลังใจที่ดีมาก เมื่อต้น พ.ศ. 2534 ท่านมีบาดแผลที่เท้า เพราะถูกตะปูตำ บาดแผลลุกลามจนต้องตัดนิ้วเท้า และขาขวาใต้เข่า และในวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม 2534 ท่านก็จากทุกคนไปอย่างสงบ
ชีวิตการทำงานของท่าน ที่น่าสนใจ และน่ายกย่อง เพราะท่านทำงานให้ทั้งกระทรวงและมหาวิทยาลัยควบคู่กันไป ท่านได้จัดระเบียบการทำงานของท่านได้อย่างดี กล่าวคือ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พ.ศ. 2483 | นายสัตวแพทย์โท แผนกวิชาโรคสัตว์ กองสัตวรักษ์ กรมเกษตรและการประมง |
พ.ศ. 2488 | หัวหน้าแผนกส่งเสริมอุตสาหกรรม กองสัตวบาล กรมปศุสัตว์ และสัตว์พาหนะ |
พ.ศ. 2495 | หัวหน้ากองวัคซีนและเซรัม |
พ.ศ. 2504 | รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ |
พ.ศ. 2505 | อธิบดีกรมปศุสัตว์ |
พ.ศ. 2514 | เกษียณอายุราชการ |
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ชีวิตการเป็นอาจารย์)
พ.ศ. 2480 | อาจารย์พิเศษสอนวิชากายวิภาคศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนอยู่ 15 ปี |
พ.ศ. 2511 | คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ด้วย |
พ.ศ. 2511-12 | ได้รับพระราชทานปริญญาสัตวแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
พ.ศ. 2512-13 | สัตวแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ |
พ.ศ. 2514 | ศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ |
เกียรติยศของท่าน คือเครื่องราชอิสริยาภรณ์
5 ธันวาคม 2510 | เหรียญรัตนาภรณ์ (ภ.ป.ร.) ชั้นที่ 2 และประถมาภรณ์มงกุฎไทย |
5 พฤษภาคม 2512 | ทุติยจุลจอมเกล้า |
5 ธันวาคม 2513 | ประถมาภรณ์ช้างเผือก |